วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ลางสุก พืชเศรษฐกิจประจำถิ่นเทือกเขาหลวง ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์

 

                                                                        นิพนธ์ สุขสะอาด / เรียบเรียง
                                                          สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช

                     --------------------------------------------------------------------------
              ลางสุก พืชตระกูลลางสาด ลองกอง เป็นพืชประจำถิ่นแถบเทือกเขาหลวงนครศรีธรรมราช ปลูกง่าย ทนทาน ให้ผลผลิตสูง รสชาติดี เริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลาย กลายเป็นพืชเศรษฐกิจประจำถิ่นที่น่าสนใจอีกชนิดหนึ่ง

              ลางสุก เป็นไม้ผลยืนต้น มีทรงพุ่มขนาดใหญ่ ความสูงประมาณ ๒๐ เมตร ชอบขึ้นในบริเวณที่มีอากาศร้อนชื้น มีร่มรำไร ชาวสวนนิยมปลูกแซมในสวนไม้ผลชนิดอื่น เช่นปลูกรวมกับมังคุด สะตอ ทุเรียน หมาก ฯลฯ ติดดอกออกผลบริเวณลำต้น และกิ่ง นิยมปลูกด้วยเมล็ด จะเริ่มให้ผลครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ ๘-๙ ปี ต้นที่มีอายุ ๑๒ ปีขึ้นไป ให้ผลผลิตประมาณ ๗๐-๑๐๐ กิโลกรัม/ต้น ออกผลเป็นช่อ เช่นเดียวกับลางสาด ลองกอง ถ้ามีการตัดแต่ง ช่อดอกจะได้ช่อที่มีขนาดใหญ่ประมาณ ๑-๒ กิโลกรัม ออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม เก็บเกี่ยวได้หลังจากดอกบานประมาณ ๑๒๐ วัน ลักษณะผลภายนอก ผิวเปลือกผลก่อนสุกมีสีเขียวเข้ม ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเขียวขี้ม้า เมื่อใกล้สุก และมีสีเหลืองเข้มเมื่อสุก เนื้อภายในผลเป็นกลีบจำนวน ๕ กลีบ บางผลมีเมล็ด ๑-๒ เมล็ด บางผลก็มีเมล็ดลีบทั้งหมด ระหว่างกลีบมีเยื่อบางๆ เป็นผนังกั้น ถ้ารับประทานติดเยื่อบางๆนี้จะมีรสชาติขมเล็กน้อย เมื่อผลสุกเต็มที จะมีรสชาติหวาน และมีกลิ่นหอม ชวนรับประทาน ปลูกมากในพื้นที่รอบๆ เทือกเขาหลวง ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ในแถบอำเภอนบพิตำ ท่าศาลา พรหมคีรี ลานสกา ช้างกลาง สิชล ขนอม ฯลฯ มีพื้นที่ปลูกทั้งหมดประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่ ปลูกมากที่สุดในอำเภอนบพิตำ ประมาณ ๖๔๐ ไร่ ให้ผลแล้วประมาณ ๖๐๐ ไร่ มีผลผลิตเฉลี่ยประมาณ ๑,๐๐๐ กิโลกรัม/ไร่/ปี

              จากการเปิดเผยของนายเยื้อน เปาะทองคำ อายุ ๖๗ ปี เกษตรกรดีเด่นสาขาทำสวน ของจังหวัดนครศรีธรรมราช และนางจินดา เปาะทองคำ อายุ ๖๔ ปี ภรรยา ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านเลขที่ ๙๘/ หมู่ที่ ๓ บ้านนานอน ตำบลนาเหรง อำเภอนบพิตำ ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำสวนผลไม้ มานานกว่า ๓๖ ปี เล่าว่าตนเองปลูกลางสุกมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ มีพื้นที่ปลูก ๒๒ ไร่ ปลูกสลับแถวกับมังคุด ระยะ ๑๒ X ๑๒ เมตร มีการจัดระบบเป็นอย่างดี ตั้งแต่การติดตั้งระบบน้ำแบบสปริงเกอร์ การกำจัดวัชพืช การตัดแต่งกิ่ง การตัดแต่งช่อดอก การใส่ปุ๋ย ฯลฯ      

             นิสัยของลางสุก ชอบขึ้นในที่ร่มรำไร มีต้นไม้ชนิดอื่นขึ้นบังแสงบ้างจะเจริญเติบโตได้ดี แต่ถ้าปลูกเชิงเดี่ยว จะต้องปลูกกล้วยแซมช่วยบังร่มไปจนกว่าต้นลางสุกจะโต การดูแลรักษาไม่ยุ่งยากเพราะเป็นพืชพื้นเมืองที่ทนทาน ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกปีละ ๑ ครั้ง ๆละ ๕ กิโลกรัม/ต้น ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร ๓๐-๑๕-๑๕ ปีละ ๒ ครั้ง คือในช่วงหลังเก็บเกี่ยว และช่วงติดผลอ่อน ครั้งละ ๑-๑.๕ กิโลกรัม/ต้น และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร ๑๓-๑๓-๒๑ ช่วงก่อนผลสุกประมาณ ๔๕ วัน อัตราต้นละ ๑-๑.๕ กิโลกรัม/ต้น หลังจากนั้นใส่ปุ๋ย และให้น้ำตามปกติ ส่วนการใช้สารเคมี ใช้เฉพาะยาฆ่าแมลง (กำจัดมด) ผสมยาฆ่าเชื้อรา และสารจับใบ ในช่วงผลเล็ก และช่วงก่อนสุก ๑ เดือน เพียงปีละ ๒ ครั้ง ส่วนแรงงานใช้แรงงานในครอบครัวสองสามีภรรยา ยกเว้นในช่วงเก็บเกี่ยวที่ต้องจ้างเก็บเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่การตัด และจัดใส่ตะกร้า จ้างในราคากิโลกรัมละ ๒ บาท

            เทคนิคในการทำให้ลางสุกออกนอกฤดู นายเยื้อนเล่าว่า เป็นเรื่องที่ไม่ได้ยุ่งยากอะไร ขอเพียงให้สวนเรามีความพร้อมในเรื่องระบบการให้น้ำ ในช่วงแล้งประมาณเดือนเมษายนต้องให้น้ำต่อเนื่อง ลางสุกจะแตกใบอ่อนแทนการออกดอก ในขณะที่สวนทั่วๆไปจะออกดอก หลังจากนั้นเมื่อต้องการให้ลางสุกออกดอกในช่วงเดือนสิงหาคม ก็หยุดให้น้ำประมาณ ๒๕-๓๐ วัน ในช่วงนั้นให้สังเกตว่าเมื่อหยุดให้น้ำ ๑๕ วัน ใบจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และช่วง ๒๕ วันจะเริ่มแทงช่อดอก จึงเริ่มให้น้ำเล็กน้อย หลังจากช่อดอกยืดเต็มที่ ถ้าเห็นว่ามีช่อดอกดกมากก็จะต้องตัดทิ้งบางส่วน และเมื่อดอกบานหมด ติดผลแน่นอนแล้ว จึงเริ่มให้น้ำได้เต็มที่

              นายเยื้อน เปาะทองคำ ยังได้วิเคราะห์สถานการณ์ให้ฟังว่า ถ้าหากราคายางพารายังสูงอยู่อย่างต่อเนื่อง น่าจะส่งผลให้พื้นที่ปลูกลางสุกลดลง ซึ่งประกอบกับสถานการณ์ในปีนี้ที่ผลผลิตลางสาด ลองกองมีมาก และสุกในระยะที่ใกล้เคียงกับลางสุก ทำให้ผลผลิตลางสุกขายยาก และมีราคาตกต่ำ แต่สำรับของตนเองอย่างไรก็คงไม่เปลี่ยนไปปลูกพืชอย่างอื่น เพราะเห็นว่าเป็นพืชที่มีอายุยืนนานนับร้อยปี เจริญเติบโตได้ดี ไม่มีศัตรูรบกวน ซึ่งแตกต่างจากลองกองอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าราคาจะไม่สูงมาก ถ้าขายได้ในราคากิโลกรัมละ ๑๐-๑๒ บาทก็คุ่มค่า และสามารถจัดการให้ติดดอกออกผลนอกฤดูก็ได้ จากการเก็บข้อมูลในช่วงปีที่ผ่านมาได้ผลผลิตจำนวน ๒๘ ตัน ขายได้ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ ๑๒ บาท ซึ่งสุกในช่วงปีใหม่ ส่วนปีนี้ผลผลิตส่วนใหญ่จะสุกในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม จะได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า ๑๐ ตัน น่าจะขายได้ในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ ๑๐ บาท ผลผลิตที่ได้ทั้งหมด จะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงสวน

              ความเป็นพืชพื้นเมือง พืชประจำถิ่น ที่สามารถปรับตัวได้ดีทนสภาพแห้งแล้ง ฝนชุก ไม่มีแมลงศัตรูรบกวน ใช้สารเคมีน้อย นอกจากจะเป็นไม้ผลที่ทำรายได้ทางเศรษฐกิจแก่เกษตรกร อาจจะเป็นรายได้หลักหรือรายได้เสริม ตามแต่เจตนาของผู้ปลูกแล้ว ลางสุกยังจะเป็นพืชที่สร้างสีเขียว สร้างความร่มรื่น ชุ่มชื่นให้แก่โลกใบนี้ไม่ใช่น้อย ควรค่าแห่งการอนุรักษ์ และปลูกเพิ่มในพื้นที่ๆเหมาะสมต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น